ครม. เห็นชอบมาตรการ EV 3.5

ให้เงินอุดหนุนสูงสุด 1 แสนบาท

เริ่มตั้งแต่ 2 มกราคม 2567

 

คณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า EV3.5 เห็นชอบเงินอุดหนุนสูงสุดสำหรับรถยนต์และรถกระบะ 100,000 บาท/คัน รถจักรยานยนต์ 10,000 บาท/คัน เดินหน้าผลักดันไทยสู่ฮับยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาค โดยบีโอไอร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กรมสรรพสามิต กรมศุลกากร กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงพลังงาน จัดประชุมชี้แจง เชิญค่ายผู้ผลิตยานยนต์ชั้นนำกว่า 30 ราย ร่วมรับฟังมาตรการสนับสนุนและสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ก่อนเริ่มใช้อย่างเป็นทางการ 2 มกราคม 2567 เชื่อมั่นค่ายรถยนต์พร้อมก้าวสู่เทคโนโลยีใหม่

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ในฐานะกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) เปิดเผยว่า ในวันนี้ (19 ธันวาคม 2566) คณะรัฐมนตรี ได้มีมติอนุมัติมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ระยะที่ 2 หรือ EV 3.5 ในช่วงเวลา 4 ปี (พ.ศ. 2567 – 2570) โดยจะเริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม 2567 เพื่อส่งเสริมให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และผลักดันไทยก้าวสู่การเป็นฐานผลิตชั้นนำของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาค โดยบีโอไอ จะร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมสรรพสามิต กรมศุลกากร กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงพลังงาน จัดประชุมชี้แจงรายละเอียดของมาตรการ EV3.5 รวมทั้งมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งบอร์ดบีโอไอ ได้เห็นชอบเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2566 โดยจะมีบริษัทผู้ผลิตยานยนต์ชั้นนำทั้งรถยนต์และรถจักรยานยนต์เข้าร่วมกว่า 30 ราย

สำหรับมาตรการ EV 3.5 จะมีผลใช้บังคับในช่วงปี 2567 - 2570 โดยครอบคลุมทั้งรถยนต์ไฟฟ้า รถกระบะไฟฟ้า และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า โดยสิทธิประโยชน์ประกอบด้วย 3 ส่วน คือ เงินอุดหนุน การลดอัตราอากรขาเข้ารถยนต์สำเร็จรูป และการลดอัตราภาษีสรรพสามิต โดยเงินอุดหนุนจะเป็นไปตามประเภทของรถ และขนาดของแบตเตอรี่ ดังนี้

1. กรณีรถยนต์ไฟฟ้าราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท ที่มีขนาดแบตเตอรี่ตั้งแต่ 50 kVh จะได้รับเงินอุดหนุน 100,000 บาท/คันในปีที่ 1 75,000 บาท/คัน ในปีที่ 2 และ 50,000 บาท/คัน ในปีที่ 3 - 4 สำหรับรถที่มีขนาดแบตเตอรี่ต่ำกว่า 50 kWh จะได้รับเงินอุดหนุน 50,000 บาท/คัน ในปีที่ 1 35,000 บาท/คัน ในปีที่ 2 และ 25,000 บาท/คัน ในปีที่ 34

2. กรณีรถกระบะไฟฟ้าราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท ที่มีขนาดแบตเตอรี่ตั้งแต่ 50 kWh จะได้รับเงินอุดหนุน 100,000 บาท/คัน ตลอดระยะเวลา 4 ปี เฉพาะส่วนที่ผลิตในประเทศ

3. กรณีรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าราคาไม่เกิน 150,000 บาท ที่มีขนาดแบตเตอรี่ตั้งแต่ 3 KWh จะได้รับเงินอุดหนุน 10,000 บาท/คัน ตลอดระยะเวลา 4 ปี เฉพาะส่วนที่ผลิตในประเทศ

ภายใต้มาตรการ EV 3.5 จะมีการลดอากรขาเข้าไม่เกินร้อยละ 40 สำหรับการนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้า สำเร็จรูป (CBU) ที่มีราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท ในช่วง 2 ปีแรก (พ.ศ. 2567 - 2568) และลดอัตราภาษีสรรพสามิตจาก ร้อยละ 8 เหลือร้อยละ 2 สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าราคาไม่เกิน 7 ล้านบาท โดยได้กำหนดเงื่อนไขการลงทุนในประเทศ ให้ผู้ได้รับ

ส่วนการสนับสนุนผลิตยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อชดเชยการนำเข้าภายในปี 2569 ในอัตราส่วน 1 : 2 (นำเข้า 1 คัน ผลิตชดเชย 2 คัน) และจะเพิ่มอัตราส่วนเป็น 1 : 3 (นำเข้า 1 คัน ผลิตชดเชย 3 คัน) ในปี 2570 เพื่อเป็นการกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในประเทศ และผลักดันไทยให้เป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาค

สำหรับแนวทางปฏิบัติสำหรับผู้นำเข้าหรือผู้ประกอบการที่ต้องการเข้าร่วมมาตรการ EV3.5 ต้องดำเนินการตามขั้นตอนดังต่อไปนี้

1. ต้องยื่นหนังสือแจ้งความประสงค์ขอรับสิทธิฯ และมีการทำข้อตกลง (MOU) ให้เป็นผู้ที่ได้รับสิทธิตามมาตรการ EV3.5 ร่วมกับกรมสรรพสามิต

2. เมื่อได้รับการอนุมัติสิทธิแล้ว ผู้ขอใช้สิทธิจะต้องได้รับอนุมัติราคาขายปลีกแนะนำและผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติยานยนต์ไฟฟ้าก่อนเริ่มขายรถรุ่นนั้น ๆ

3. กรณีนำเข้า ผู้นำเข้าต้องปฏิบัติตามข้อ 1 และ 2 ให้แล้วเสร็จก่อนการนำเข้า จึงจะสามารถนำยานยนต์ไฟฟ้ามาขอรับสิทธิทางภาษีได้

4. การขอรับเงินอุดหนุนหลังจากการจำหน่ายและจดทะเบียนให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กรมสรรพสามิตกำหนด

5. สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ รวมถึงเงื่อนไขการผลิตชดเชย บทลงโทษ ตลอดจนหลักเกณฑ์และเงื่อนไขอื่น ๆ ตามมาตรการ EV3.5 ให้เป็นไปตามที่กรมสรรพสามิตกำหนด

สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าที่เคยได้รับสิทธิตามมาตรการ EV3 อยู่แล้ว แต่ไม่สามารถจำหน่ายได้ทันภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2566 และประสงค์ที่นำยานยนต์ไฟฟ้าดังกล่าวมารับสิทธิตามมาตรการ EV3.5 สามารถกระทำได้ โดยมีขั้นตอนการดำเนินการ ดังนี้

1. ผู้ขอรับสิทธิต้องยื่นหนังสือแจ้งความประสงค์ขอรับสิทธิฯ และมีการทำข้อตกลง (MOU) เพื่อเป็นผู้ได้สิทธิตามมาตรการ EV3.5 และต้องได้รับอนุมัติราคาขายปลีกแนะนำและผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติยานยนต์ไฟฟ้าที่ก่อนเริ่มจำหน่าย

2. หลังจากวันที่ 31 ธันวาคม 2566 ผู้ได้รับสิทธิตามมาตรการ EV3 ต้องยื่นหนังสือเพื่อแจ้งจำนวนคงเหลือของยานยนต์ไฟฟ้าที่ได้รับสิทธิตาม EV3 แต่ไม่สามารถจำหน่ายได้ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2566 ให้กรมสรรพสามิตทราบ ก่อนลงนามข้อตกลง EV 3.5 กับกรมสรรพสามิต

3. ยานยนต์ไฟฟ้าที่ได้รับสิทธิตาม EV3 แต่ประสงค์จะนำมาเข้าร่วมมาตรการ EV 3.5 จะยังคงได้รับสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีตามมาตรการ EV3 แต่เงินอุดหนุนและเงื่อนไขการผลิตชดเชย ตลอดจนบทลงโทษ และเงื่อนไขอื่น ๆ ให้เป็นไปตามมาตรการ EV3.5

สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าที่เคยได้รับสิทธิตามมาตรการ EV3 แต่ไม่สามารถจำหน่ายได้ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2566 และไม่ประสงค์ที่นำยานยนต์ไฟฟ้าดังกล่าวมารับสิทธิตามมาตรการ EV3.5 ต่อ จะยังคงมีภาระในการผลิตชดเชยการนำเข้าตามเงื่อนไขของมาตรการ EV3 โดยไม่ต้องคืนสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีที่ได้รับไปแล้ว

 

ที่มา : - https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/76368